วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2561

ทำความรู้จักกับเหล็กเสริมคอนกรีต



เหล็กเสริมคอนกรีตคืออะไร

            เหล็กเสริมคอนกรีต หมายถึง  เหล็กเส้นกลมธรรมดาหรือเหล็กข้ออ้อย  เหล็กเสริมคอนกรีตนี้ต้องเป็นเหล็กที่มีขนาดโตเสมอต้นเสมอปลาย มีพื้นที่หน้าตัดไม่น้อยกว่าที่คิดจากเส้นผ่าศูนย์กลางของเหล็กซึ่งกำหนดไว้ในแบบ เป็นเหล็กใหม่ผิวสะอาดปราศจากสนิม หรือน้ำมัน ไม่มีรอยแตกร้าวและมีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของกระทรวง อุตสาหกรรม ทั้งขนาด ทั้งน้ำหนัก และคุณสมบัติอื่นๆปริมาณและขนาดทั้งหมดของเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตให้ถือ ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในแบบโครงสร้าง  ผู้รับจ้างจะต้องเตรียมเหล็กเสริมตามตำแหน่ง ปริมาณ ขนาด และคุณภาพให้ถูกต้องตามแบบและรายการประกอบแบบโดยเคร่งครัด

ชนิดของเหล็กที่นำมาใช้กับงานคอนกรีตเสริมเหล็ก

            1. เหล็กเส้นกลม (Round Bar)
                        เหล็กเส้นกลม คือ เหล็กเส้นที่มีพื้นที่ภาคตัดขวางเป็นรูปกลม มีผิวเรียบเกลี้ยง เหล็กเส้นกลมตามมาตรฐาน มอก. 20-2527 ทำจากเหล็กแท่งเล็ก (billet) เหล็กเส้นใหญ่ (bloom) หรือ เหล็กแท่งหล่อ (ingot) โดยตรง ด้วยกรรมวิธีรีดร้อนโดยไม่เคยมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นมาก่อน มีขนาด 6, 9, 12, 15, 19, 22, 25, 28 และ 34 มิลลิเมตร ความยาว 10 หรือ 12 เมตร มีชั้นคุณภาพเดียว ใช้สัญลักษณ์ SR 24 ชื่อขนาดใช้สัญลักษณ์ RB แล้วตามด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเหล็กเส้นนั้นๆ เหล็กทุกเส้นจะต้องมีชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตและชื่อขนาดหล่อเป็นตัวนูนติดกับผิวเหล็ก ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตจะต้องห่างจากชื่อ ขนาดไม่น้อยกว่า 50 มิลลิเมตร เหล็กเส้นชนิดนี้นิยมใช้กันมากที่สุดกับงานก่อสร้างขนาดเล็กและขนาดกลาง
            2. เหล็กรีดซ้ำ (Re-rolled Round Bar)
                        เหล็กรีดซ้ำ ตามมาตรฐาน มอก. 211-2527 ทำจากเศษเหล็กที่ได้จากเข็มพืด (sheet pile) เหล็กแผ่นต่อเรือ (ship plate) เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ หรือเหล็กที่คัดออกระหว่างการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วนำมารีดเป็นเส้นกลมด้วยกรรมวิธีรีดร้อน มีขนาด 6, 8, 9, 10, 12 และ 15 มิลลิเมตร ความยาว 10 หรือ 12 เมตร มีชั้นคุณภาพเดียว ใช้สัญลักษณ์ SRR 24 ชื่อขนาดใช้สัญลักษณ์ R แล้วตามด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเหล็กเส้นนั้นๆ เหล็กทุกเส้นจะมีชื่อ หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตและชื่อขนาด หล่อเป็นตัวนูนติดกับผิวเหล็กเช่นเดียวกับเหล็กเส้นกลมด้วยเช่นกัน
            3. เหล็กข้ออ้อย (Deformed Bar)
                        เหล็กข้ออ้อย คือ เหล็กเส้นที่มีพื้นที่ภาคตัดขวางเป็นรูปกลม มีบั้ง (transverse ribs) และอาจมีครีบ (longitudinal ribs) ที่ผิว เพื่อเสริมกำลังยึดระหว่างเหล็กเส้นกับเนื้อคอนกรีต เหล็กข้ออ้อยตามมาตรฐาน มอก. 24-2527 ทำจากเหล็กชนิดเดียวกัน และด้วยกรรมวิธีเดียวกันกับเหล็กเส้นกลม มีขนาด 10, 12, 16, 20, 22, 25, 28 และ 32 มิลลิเมตร ความยาว 10 หรือ 12 เมตร มี 3 ชั้นคุณภาพ ใช้สัญลักษณ์ SD 30, SD 40 และ SD 50 ชื่อขนาดใช้สัญลักษณ์ DB แล้วตามด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเหล็กเส้นนั้นๆ เหล็กทุกเส้นจะมีชื่อเรียกหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตและชื่อขนาด หล่อเป็นตัวนูนติดกับผิวเหล็กเช่นเดียวกับเหล็กเส้นกลม และเหล็กรีดซ้ำ เหล็กเส้นชนิดนี้เนื่องจากให้แรงยึดเหนี่ยวระหว่างเหล็กกับเนื้อคอนกรีตได้ดีกว่า 2 แบบแรก จึงนิยมนำไปใช้กับงานก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงเป็นพิเศษ

วิธีการเก็บรักษาเหล็กเสริมคอนกรีต

            1. จัดเก็บเหล็กเสริมคอนกรีตให้พ้นจากสิ่งสกปรก เช่น ดิน สี น้ำมัน ฯลฯ และต้องเก็บไว้เหนือพื้นดินโดยต้องมีหลังคาป้องกันน้ำค้าง น้ำฝน

            2.  เหล็กเสริมคอนกรีตที่ส่งเข้าหน่วยงานก่อสร้างจะต้องจัดกองเก็บแยกกองก่อน หลังที่นำเข้ามาตามลำดับ ทั้งนี้เพื่อสามารถนำเหล็กที่เข้ามาก่อนไปใช้ก่อน โดยไม่ปะปนกับเหล็กเส้นซึ่งนำเข้ามาใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น