วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561

ทำความรู้จักกับท่อกลม



ทำความรู้จักกับท่อกลม

ท่อกลมคืออะไร 


ท่อกลมเป็นหนึ่งในเหล็กรูปพรรณ (Structural steel) จำพวกเหล็กรีดร้อน Hot Rolled ใช้สำหรับการก่อสร้างที่รับน้ำหนักได้ไม่มากนัก งานแป และงานประกอบทั่วไป นอกจากนี้ยังใช้สำหรับทำท่อลมและท่อน้ำมันได้อีก มีขนาดมาตรฐาน เริ่มต้นคือ 1/2 นิ้ว x 1.2 มม. (ครึ่งนิ้ว) มีความยาว 6,000 มิลลิเมตร/เส้น บางครั้งเรียกว่า ท่อแป๊ปดำ, แป๊บดำ, เหล็กหลอด, กลมดำ, ท่อดำ

ท่อกลมทำมาจากอะไร 

ท่อกลมเกิดจากการนำเหล็กกล้า ผ่านเข้าสู่เตาหลอมและต่อด้วยกระบวนการขึ้นรูป ออกมาจะเป็นท่อที่มีลักษณะกลวงยาว

ท่อเหล็กอาบสังกะสีคืออะไร 

ท่อเหล็กอาบสังกะสี คือ การนำเอาท่อที่ได้จากกระบวนการขึ้นรูป (ท่อเหล็กดำ) มาชุบสังกะสี เพื่อให้มีความคงทนต่อการกัดกร่อนของสนิมและมีความแข็งแรงทนทาน สวยงาม ใช้งานได้เป็นเวลานานไม่ทำให้เกิดรอยแตกเวลาเชื่อมซึ่งส่วนประกอบของสังกะสีจะขึ้นอยู่กับแต่ละโรงงาน จากนั้นก็จะนำมาต๊าพเกลียวเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ โดยท่อเหล็กอาบสังกะสีเรียกอีกอย่างว่า ท่อประปากัลวาไนซ์ Galvanized Pipe หรืออีกชื่อ ที่เรียกกันทั่วไปว่า แป๊ปประปา เกิดจากการนำท่อดำไปชุบสังกะสีเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดสนิม โดยแบ่งตามความหนาเป็น 4 ประเภท คือ คาดเขียว (หนาสุด), คาดแดง, คาดน้ำเงิน, คาดเหลือง (บางสุด)

ขนาดและความหนาของท่อกลม

ขนาด มีตั้งแต่ 1/2",3/4", 1", 1-1/4", 1-1/2", 2", 2-1/2", 3", 3-1/2", 4", 5", 6",8”
ความหนา ตั้งแต่ 1.2,1.4,1.6,1.8,2.0,2.3,2.6,2.8,3.0,3.2,3.5,4.0,5.0,5.5,6.0mm

วิธีดูชั้นคุณภาพของเหล็กโครงสร้างรูปพรรณกลวง

ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุสาหกรรมกระทรวงอุสาหกรรมเหล็กโครงสร้างรูปพรรณกลวง ซึ่งต่อไปในมาตรฐานนี้จะเรียกว่า “เหล็กกลวง” แบ่งตามรูปภาคตัดออกเป็น 2 แบบ คือ

แบบกลม แบ่งตามสมบัติการดึงออกเป็น 3 ชั้นคุณภาพ คือ HS 41 HS 50 และ HS 51
แบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส แบ่งตามสมบัติการดึงออกเป็น 2 ชั้นคุณภาพ คือ HS 41และ HS 50
แบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งตามสมบัติการดึงออกเป็น 2 ชั้นคุณภาพ คือ HS 41และ HS 50

วิธีการตรวจสอบเครื่องหมายและฉลากบนท่อกลมก่อนเลือกซื้อ

บนท่อกลมควรตรวจสอบเลข ตัวอักษรหรือเครื่องหมายแจ้งรายละเอียดชั้นคุณภาพ โดยสีเขียวสำหรับเหล็กกลวงชั้นคุณภาพ HS41 สีแดงสำหรับชั้นคุณภาพ HS50 และสีขาวสำหรับชั้นคุณภาพ HS51 ชื่อ ขนาด ความหนา ความยาว ชื่อผู้ทำหรือโรงงานที่ทำ หรือ เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน

วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561

เหล็กรูปพรรณคืออะไร ?

เหล็กรูปพรรณคืออะไร ?

          
         

เหล็กรูปพรรรณ คือ เหล็กโครงสร้างอาคารที่มีรูปแบบหน้าตัดหลากหลาย ใช้ทำเป็นโครงสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น เสา คาน คอสะพาน เป็นต้น โดยรูปแบบของหน้าตัด และกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อการนำไปใช้งาน โครงสร้างในแต่ละส่วนของอาคารที่ต่างกันสามารถแบ่งประเภทได้ตามกระบวนการผลิตซึ่งมี 3 ประเภท ได้แก่

เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (hot-roll structural steel section)
เหล็กโครงสร้างรูปพรรณขึ้นรูปเย็น (Cold form structural steel section)
เหล็กโครงสร้างรูปพรรณเชื่อมประกอบ (Weled structureral steel section)

ซึ่งแต่ละประเภทมีรายละเอียด ดังนี้

เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (hot-roll structural steel section)

เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (hot-roll structural steel section) มีการผลิตมากมายหลายมาตรฐาน และมีการผลิตใช้งานในต่างประเทศมายาวนาน เนื่องจากผลิตได้รวดเร็ว และเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง โดยประเทศผู้ผลิตเหล็ก จะผลิตเหล็กโดยมีมาตรฐานเป็นของตนเอง เพื่อให้ประเทศที่มีการจัดการอุตสาหกรรมแบบเดียวกันยอมรับและนำไปใช้งาน มาตรฐานเหล็กตามระบบ ที่นิยมใช้กันเป็นมาตรฐานสากล มี 3 ระบบ คือ

1. ระบบอเมริกา นิยมใช้กัน 2 มาตรฐาน

- ระบบ AISI (American Iron and Steel Institute)
- ระบบ SAE (Society of Automotive Engineer)

2. ระบบเยอรมัน เรียกว่า DIN (Deutsche Industrial Norms)

3. ระบบญี่ปุ่น เรียกว่า JIS (Japanese Industrial-Standards)


ซึ่งในประเทศไทยมีการผลิตและกำหนดมาตรฐานโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนเองภายในประเทศแล้ว เช่น

เหล็กเส้นกลม (ROUND BARS) เหล็กเส้นข้ออ้อย (DEFORMED BARS)
เหล็กเพลาขาว (STEEL ROUND BARS) เหล็กสี่เหลี่ยมตัน (STEEL ROUND BARS)
เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดเย็น (Cold formed structural steel)

เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดเย็น (Cold formed structural steel) กระบวนการพับขึ้นรูปเหล็กกล้าที่มีลักษณะเป็นแผ่นในอุณหภูมิปกติ ซึ่งวัตถุดิบ คือการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนหรือเหล็กแผ่นชุบสังกะสีเป็นวัตถุดิบ เช่น เหล็กตัวซี (LIGHT LIP CHANNEL) ท่อกลมดำ (CARBON STEEL TUBES) เหล็กกล่องสี่เหลี่ยมจตุรัส,ท่อเหลี่ยม (CARBON STEEL SQUARE PIPES) เหล็กกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า (CARBON STEEL RECTANGULAR PIPES) ท่อเหล็กอาบสังกะสี (GALVANIZED STEEL PIPES)
เหล็กโครงสร้างรูปพรรณเชื่อมประกอบ (Welded structural steel section)
เหล็กโครงสร้างรูปพรรณเชื่อมประกอบ (Welded structural steel section) คือ เหล็กโครงสร้างที่เกิดจากการนำแผ่นเหล็กที่มีความหนามากกว่า 3 มิลลิเมตรมาเชื่อมเป็นหน้าตัดต่าง ๆ ตามขนาดที่ต้องการมักใช้ในงานชิ้นส่วนโครงสร้างอาคารที่มีรูปแบบและขนาดเฉพาะเจาะจง





วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2561

ทำความรู้จักกับเหล็กกล่อง

ทำความรู้จักกับเหล็กกล่อง

เหล็กกล่องคืออะไร

เหล็กกล่อง (Steel Tube) หรือนิยมเรียกกันว่าเหล็กแป๊บ เป็นเหล็กรูปพรรณชนิดหนึ่ง มีสองประเภท คือ เหล็กกล่องสี่เหลี่ยม,ท่อเหลี่ยมหรือเหล็กแป๊บโปร่ง (Square Steel Tube) และเหล็กกล่องสี่เหลี่ยมแบนหรือเหล็กแป๊บแบน (Rectangular Steel Tube) มีส่วนประกอบทางเคมีสำคัญ ได้แก่ คาร์บอน แมงกานีส ฟอสฟอรัส และกำมะถัน
เหล็กกล่องสี่เหลี่ยม,ท่อเหลี่ยมหรือเหล็กแป๊บโปร่ง (Square Steel Tube)

เป็นเหล็กโครงสร้างรูปพรรณกลวงแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวมาตรฐานเส้นละ 6 เมตร หรือ 6,000 มิลลิเมตร มีลักษณะเป็นท่อสี่เหลี่ยม มีมุมฉากที่เรียบคม ไม่มน ได้มุมฉาก 90 องศา ขนาดความยาวต้องวัดได้หน่วยมิลลิเมตร ผิดพลาดไม่เกิน 2% ทุกเส้นต้องยาวเท่ากัน นิยมนำมาใช้กับโครงสร้างที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก เช่น เสา นั่งร้าน,ประตู,ชั้นวางของด้านที่รับแรง สามารถนำไปใช้แทนไม้หรือคอนกรีตได้โดยการนำไปประยุกต์ เพราะมีน้ำหนักเบา, มีความแข็งแรง ทนทาน
เหล็กกล่องสี่เหลี่ยมแบนหรือเหล็กแป๊บแบน (Rectangular Steel Tube)

เป็นเหล็กโครงสร้างรูปพรรณกลวงแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดความกว้างกับความสูงไม่เท่ากัน แต่มีความยาว 6,000 มิลลิเมตร ต่อเส้นเท่ากับความยาวของเหล็กแป๊บเหลี่ยม มีลักษณะผิวเรียบไม่หยาบ เหมาะสำหรับงานก่อสร้างทั่วไปที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง เช่น เสา,นั่งร้าน,ประตู เป็นต้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานทั่วไป ทดแทนการใช้ไม้ คอนกรีต และเหล็กรูปพรรณชนิดอื่นๆ น้ำหนักเบา และมีคุณสมบัติที่แข็งแรงทนทาน

เหล็กกล่องกัลวาไนซ์ เป็นกระบวนการผลิตเหล็กเคลือบกัลวาไนซ์กันสนิมโดยการนำเหล็กรูปพรรณไปชุป/พ่น/หรือทากัลวาไนซ์เพื่อป้องกันสนิม ซึ่งในความจริงแล้วการชุบกัลวาไนซ์คือชุบ Hot Dip กัลวาไนซ์ หรือการชุบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (Hot-dipped Galvanized ) นั่นเอง เหมาะสำหรับงานที่ต้องการการปกป้องจากการเกิดสนิมในสภาพกลางแจ้ง (Outdoor) มีการสลายตัวประมาณปีละ 1 ไมครอน จึงมีอายุการใช้งานเกิน 20 ปี

ขั้นตอนการชุปกัลวาไนซ์


1. การกำจัดสิ่งสกปรก (Surface Cleaning)) เพื่อขจัดเศษฝุ่น (Rinsing) หรือผงต่างๆ ออกจากชิ้น งานล้างด้วยน้ำสะอาด (rinsing)
2. การกัดด้วยกรด (pickling) เช่น กรดซัลฟิวริก กรดไฮโดรคลอริก เพื่อกัดสนิมขนาดเล็กที่เกาะตามผิวของชิ้นงาน
3. การแช่น้ำยาประสาน (fluxing) เพื่อปรับความตึงผิวของเหล็กและเพื่อให้ชิ้นงานยึดติดกัลวาไนซ์ได้ดี
4. การชุบเคลือบสังกะสี(galvanizing) ซึ่งจะแบ่งวิธีการชุบได้ดังนี้

- การเขย่าหรือเหวี่ยง ใช้สำหรับงานพวกน็อต สกรู หรืองานขนาดเล็ก
- การชุบแบบธรรมดาโดยไม่ต้องเขย่าใช้กับชิ้นงานขนาดใหญ่ทั่วไป

5. การตกแต่งสำเร็จ (finishing) เช่น 
การขัดด้วยตะไบหรือเจียร์ออก
6. การตรวจสอบความหนา (inspection) เพื่อเป็นการยืนยันได้ว่าตรงตามความต้องการของลูกค้า


ข้อดีของการใช้เหล็กกล่องกัลวาไนซ์


1. ประหยัดค่าสี เพราะไม่ต้องใช้สีกันสนิม
2. ประหยัดเวลาและแรงงาน เพราะไม่ต้องใช้คนงานมาทาสีกันสนิม
3. มีอายุการใช้งานนาน
4. มีความแข็งแรงทนทาน
5. เก็บรักษาง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องสนิม